
ชุมชนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จากการเพิ่มจำนวนของประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ ปัญหาขยะ น้ำเสีย และ สิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นอยู่เสมอและต้องเร่งแก้ไข ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกรุงเทพหานครเมืองหลวงของประเทศไทย จึงได้กำหนดนโยบายการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครสีเขียว หรือเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green City) ซึ่งตระหนักถึงระบบนิเวศ ลดการพึ่งพาการใช้ทรัพยากร ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน โดยตั้งเป้าหมายให้ประชาชนทุกภาคส่วนนำแนวคิดวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน มีค่านิยมรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้ทุกภาคส่วนเป็นองค์กรสีเขียว (Green) อันจะนำมาซึ่งผลสำเร็จในการสร้างกรุงเทพฯให้เป็นมหานครสีเขียว (Green City) ได้อย่างยั่งยืน
ชุมชนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สู่ การเกษตรกรรมยั่งยืน
โดย เบสท์ แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ บีซีไอ ซึ่งเป็นองค์กรที่ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทย สาขาสิ่งแวดล้อม และสุขาภิบาล ได้ถูกเลือกจากกรุงเทพมหานครให้เป็นบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการ สร้าง ชุมชนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Bangkok Green Community) โดยดำเนินการต่อยอดโครงการส่งเสริมการจัดการมูลฝอยโดยชุมชน และโครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชนยิ้มสดใส โดยพัฒนาให้เกิดศูนย์เรียนรู้สิ่งแวดล้อม ระดับย่านคลอง โดยมีคลองเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง ทุกภาคส่วนที่อยู่อาศัย หรือประกอบอาชีพทั้งสองฝั่งคลอง ประกอบด้วย บ้านหรือชุมชน วัด หรือศาสนสถาน และโรงเรียน ตามแนวคิด “บวร” บวกเพิ่มสถานประกอบการ โดยเสริมสร้างจิตสำนึก สอน ฝึกปฏิบัติ กระตุ้น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดการขยะ น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม โดยคัดแยกขยะนำกลับไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้มากที่สุด เปลี่ยนขยะอินทรีย์ เป้นปุ๋ยหมัก น้ำหมัก และผลิตน้ำยาทำความสะอาดชีวภาพ ลดการทิ้งขยะลงคูคลอง ติดตั้งถังดักไขมันประจำ-บ้าน สถานประกอบการขนาดใหญ่ หรือหมู่บ้านจัดสรรเดินระบบบำบัดน้ำเสียรวม เพื่อช่วยให้น้ำในคลอง มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกับคลองได้อย่างมีความสุข สามารถใช้ประโยชน์จากคลอง เช่นการขนส่ง การท่องเที่ยว การค้าขาย หรือการเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน ต่อไป
ผลการดำเนินโครงการฯ เป็นการเปิดโอกาสประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลรักษาความสะอาดของสองฝั่งคลอง ให้สะอาด น้ำในคลองใสสะอาด มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดแหล่งพาหะนำโรค เช่น หนู แมลงสาบ ยุง ฯลฯ ความร่วมมือของชาวชุมชนในการบริหารจัดการขยะ น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้
การเกษตรกรรมยั่งยืน
เป็นการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับสมดุลของระบบนิเวศ ให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดี และเพียงพอต่อเกษตรกรและผู้บริโภค เน้นการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม ซึ่งเทคโนโลยีและกระบวนการ BCI ถูกนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเกษตรกรรมยั่งยืนได้อย่างลงตัว
หลักการสำคัญที่สุดที่มีร่วมกันของเกษตรกรรมทางเลือก-เกษตรกรรมยั่งยืน คือ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการผลิตอาหารและปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากกว่าผลิตเพื่อการส่งออก (เกษตรกรจึงไม่ต้องวิ่งไปตามกระแสของตลาด) มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ระบบการผลิต การบริโภค และการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นมีความสมดุล อาหารที่ผลิตได้เป็นอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง และเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน ทำให้ระบบเกษตรกรรมเหล่านี้ดำเนินต่อเนื่องไปได้นานที่สุด โดยไม่มีผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศวิทยา และไม่เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ



ระบบการทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่สำคัญๆ และเป็นที่รู้จักกันทั่วไป รวมถึง
- ระบบไร่หมุนเวียน
ระบบไร่หมุนเวียนเป็นระบบเกษตรกรรมพื้นบ้านที่ทำกันในหลายวัฒนธรรมในอดีต เป็นวิธีการเพาะปลูกพืชในพื้นที่หนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง โดยจะปลูกพืชแบบผสมผสาน ทั้งข้าว ผัก และพืชใช้สอยต่างๆ รวมกันในบริเวณพื้นที่เดียวกัน เมื่อทำการเพาะปลูกไประยะหนึ่งจนดินลดความอุดมสมบูรณ์ลง ก็จะย้ายไปทำการเพาะปลูกในพื้นที่ใหม่ และปล่อยให้ดินในพื้นที่เดิมได้ฟื้นความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ แล้วจึงหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เดิมนั้นอีกครั้ง จึงเป็นรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ได้มากที่สุดระบบหนึ่ง
- ระบบเกษตรผสมผสาน (Integrated farming)
ระบบเกษตรผสมผสานหมายถึงระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจการรมการผลิตแต่ละชนิดเอื้อประโยชน์กันและกัน และเกื้อกูลกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยหลักการอยู่รวมกันระหว่างพืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ระบบเกษตรผสมผสานจะประสบผลสำเร็จได้ จะต้องมีการวางรูปแบบ และดำเนินการ โดยให้ความสำคัญต่อกิจกรรมแต่ละชนิดอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม มีการใช้แรงงาน เงินทุน ที่ดิน ปัจจัย การผลิตและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
ตลอดจนรู้จักนำวัสดุเหลือใช้จากการผลิตชนิดหนึ่งมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์กับการผลิตอีกชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดภายในไร่นาแบบครบวงจร เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างเหมาะสมและให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
- ระบบไร่นาสวนผสม (Mixed/Diversefied/Polyculture Farming)
ระบบไร่นาสวนผสมเป็นระบบเกษตรกรรมที่มีกิจกรรมการผลิตหลายๆ ชนิดเพื่อตอบสนองการบริโภคหรือลดความเสี่ยงจากราคาตลาดของผลผลิตที่มีความไม่แน่นอน โดยไม่มีการจัดการให้กิจกรรมการผลิตเหล่านั้นมีการผสมผสานเกื้อกูลกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อมเหมือนเกษตรผสมผสาน การทำไร่นาสวนผสมในระยะแรกๆ อาจมีการเกื้อกูลกันจากกิจกรรมการผลิตบ้าง แต่กลไกการเกิดขึ้นเป็นแบบ ?เป็นไปเอง? ไม่ได้เกิดจากการตั้งใจจัดการด้วย ?ความรู้ ความเข้าใจ?
- ระบบไร่นาป่าผสมหรือวนเกษตร (Agro Forestry)
ระบบไร่นาป่าผสมหรือวนเกษตรเป็นระบบเกษตรกรรมที่นำเอาหลักการความยั่งยืนถาวรภาพของระบบป่าธรรมชาติมาเป็นแนวทางในการทำการเกษตร และมีการจัดองค์ประกอบการผลิตทางการเกษตรให้รวมหลากหลายชนิดของพืชและสัตว์อย่างเหมาะสมและสมดุล วนเกษตร จึงหมายถึงการใช้ที่ดินในการผลิตพืช และสัตว์ให้มากชนิด หรือมีความซับซ้อนและหลากหลายทางชีวภาพใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เป็นการทำเกษตรร่วมกับการอนุรักษ์ป่าไม้ โดยมีรากฐานหรือปัจจัยการผลิตที่มาจากท้องถิ่นเอง
- เกษตรธรรมชาติ (Natural farming)
เกษตรธรรมชาติเป็นระบบเกษตรกรรมที่คำนึงถึงระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ และพยายามเข้าใจกระบวนการทำงานของธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยมองว่าธรรมชาติได้จัดทุกสิ่งทุกอย่างไว้อย่างสมดุลดีแล้ว เราจึงควรให้ความสำคัญกับธรรมชาติและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเต็มที่โดยรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด พร้อมไปกับหาทางอนุรักษ์ธรรมชาตินั้นไว้ให้คงอยู่ตลอดไป
แนวคิดการทำเกษตรธรรมชาติที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย รวมถึงแนวคิดของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ที่เป็นผู้เขียนหนังสือ ปฏิวัติด้วยฟางเส้นเดียว หรือแนวคิดเกษตรธรรมชาติของโมกิจิ โอกาดะ ผู้ให้กำเนิดกลุ่มเกษตรธรรมชาติเอ็มโอเอ (MOA) และแนวคิดเกษตรธรรมชาติคิวเซ ที่แยกออกมาจากกลุ่มเอ็มโอเอ ตลอดจนแนวคิดเกษตรธรรมชาติเกาหลีของ ฮาน คิว โช เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แนวคิดของเกษตรธรรมชาติจะมีหลักการสำคัญที่คล้ายคลึงกัน คือ การเลียนแบบธรรมชาติของป่าที่สมบูรณ์ และใช้พลังจากสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติตามที่เป็น โดยจะรบกวนหรือแทรกแซงการทำงานของธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น มีการให้ความสำคัญกับดินเป็นอันดับแรก และเน้นการปรับปรุงดินให้มีพลังมำหรับการเพาะปลูก
- เกษตรทฤษฏีใหม่
ระบบเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นแนวทางการทำการเกษตรแบบพึ่งตนเองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ได้พระราชทานให้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก
แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นวิธีทำการเกษตรที่ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศโดยรวมของธรรมชาติ มีการหมุนเวียนการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน ปัจจัยการผลิต หรือเศษเหลือใช้จากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง เพื่อให้เกษตรกรมีอาหารที่ผลิตเองไว้บริโภคอย่างพอเพียงตามอัตภาพ พอมีพอกิน ไม่อดอยาก เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดเล็กประมาณ 10-20 ไร่ เน้นให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเองได้แบบค่อยเป็นค่อยไปตามกำลัง ทำกิจกรรมการเกษตรหลายอย่างเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ สามารถปรับใช้กับพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ โดยจะเน้นการจัดการแหล่งน้ำและจัดสรรแบ่งส่วนพื้นที่ทำการเกษตรอย่างเหมาะสม มีการแบ่งพื้นที่ระหว่าง แหล่งน้ำ/นาข้าว/พืชผสมผสาน/โครงสร้างพื้นฐานและที่พักอาศัย ในสัดส่วน 30/30/30/10
แนวทางเกษตรทฤษฏีใหม่เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารในครัวเรือน และทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยการผลิตจากภายนอก ดังนั้น การส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฏีใหม่ที่ดำเนินพร้อมไปกับการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตร หรือนำทฤษฏีใหม่ไปใช้แค่เพียงรูปแบบโดยไม่เข้าใจเนื้อหาและปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังเกษตรทฤษฏีใหม่นี้ จะนำไปสู่แนวทางการดำเนินงานที่ไม่จัดเป็นเกษตรกรรมยั่งยืนตามความหมายและหลักการที่วางไว้
- เกษตรกรรมประณีต
เกษตรกรรมประณีตเป็นรูปแบบเกษตรกรรมทางรอดที่เกิดจากการการระดมความคิดของปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน 12 ท่าน4 ร่วมกับนักวิจัยระดับชาวบ้านท่านอื่นๆ เพื่อตอบคำถามว่าต้องมีพื้นที่เท่าไรจึงจะทำเกษตรกรรมเลี้ยงชีวิตได้อย่างพออยู่พอกิน สามารถเลี้ยงตนเองและคนในครอบครัวได้?? และต้องจัดการพื้นที่อย่างไรให้สามารถเลี้ยงตัวเองและปลดภาระหนี้ที่มีอยู่ได้? คำตอบที่ได้จากการระดมสมอง คือ มีพื้นที่ 1 ไร่ก็สามารถจะอยู่ได้อย่างพอเพียง? การทำเกษตรประณีตจึงเป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดิน 1 ไร่ให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น? พอมีพอกิน? ปลดภาระหนี้สิน? ปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเป็นบำนาญชีวิตโดยมีหลักการสำคัญได้แก่ การออมน้ำ? ออมดิน? ออมต้นไม้? ออมสัตว์? ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการทำเกษตรในพื้นที่ 1 ไร่อย่างมีความยั่งยืนและเกิดการเชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศที่เกื้อกูล?
- เกษตรอินทรีย์ (Organic farming)
เกษตรอินทรีย์เป็นระบบการเกษตรที่ผลิตอาหารด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นหลักการปรับปรุงบำรุงดิน เคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และระบบนิเวศ ลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก และไม่ใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร ทั้งปุ๋ยเคมี ยากำจัดวัชพืชและศัตรูพืช รวมทั้งฮอร์โมนสังเคราะห์ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ ตลอดจนสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุ์กรรม ในขณะเดียวกันก็พยายามประยุกต์ใช้ธรรมชาติเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและพัฒนาความต้านทานศัตรูพืช เกษตรอินทรีย์ให้ความสำคัญสูงสุดในการปรับปรุงดิน โดยเชื่อว่าดินที่สมบูรณ์ย่อมทำให้พืชและสัตว์ที่เจริญเติบโตจากผืนดินนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ตามไปด้วย ผู้บริโภคผลผลิตเกษตรอินทรีย์ก็จะได้รับอาหารที่มีคุณภาพดีและปลอดภัย
องค์การสหประชาชาติ (FAO) ได้กล่าวไว้ว่า ? เกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืนเป็นระบบการบริหารจัดการการผลิตแบบองค์รวม ที่หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช สิ่งมีชีวิตที่มีการตัดแต่งพันธุ์กรรม (จีเอ็มโอ) ลดการสร้างมลพิษในอากาศ ดิน และแหล่งน้ำ ตลอดจนเพิ่มความแข็งแรงของสุขภาพให้กับพืช สัตว์ และมนุษย์? ประโยชน์ของการทำเกษตรกรรมวิธีนี้อย่างเต็มรูป คือ การลดการพึ่งพาพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยและมีต้นทุนต่ำ5 เกษตรอินทรีย์เต็มรูปจึงถือเป็นก้าวแรกของการทำเกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืน
